ย้อนไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ขนมที่เราซื้อจากแม่ค้าส่วนใหญ่มักถูกใส่ไว้ในใบตอง ถุงกระดาษพับมือ หรือวัสดุจากธรรมชาติ ผ่านมาจนถึงปัจจุบันหากเราเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ สินค้าอาจบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกที่ปิดมิดชิด กล่องกระดาษดีไซน์สวยงาม หรือบรรจุภัณฑ์แปลกตาชวนให้หยิบขึ้นมาดู ซึ่งเห็นได้ว่าการบรรจุหีบห่อเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการบริโภคมาอย่างยาวนาน ในอดีตประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์อาจมีไว้เพื่อปกป้องสินค้าภายในเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันบทบาทของบรรจุภัณฑ์นั้นมีหลากหลาย และในบางกรณีอาจเป็นตัวกำหนดยอดขายของสินค้านั้นๆ เลยทีเดียว
ประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์มีอะไรบ้าง?
ปัจจุบันเราสามารถแบ่งประโยชน์หลักๆ ของบรรจุภัณฑ์ได้ดังนี้
1. เพื่อปกป้องสินค้าที่อยู่ภายในบรรจุภัณฑ์: การมีบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้ม จะช่วยปกป้องสินค้าจากสิ่งสกปรก รวมทั้งรักษาความสะอาดของสินค้าไว้ ทำให้เราหยิบจับได้โดยไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อนลงบนสินค้า อีกทั้งในบางกรณียังช่วยยืดอายุสินค้าอีกด้วย เช่นกรณีการเติมแก๊สเข้าไปแทนที่อากาศในบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาของสินค้า
2. เพื่อให้ข้อมูลของสินค้านั้นๆ แก่ผู้บริโภค: บรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันนั้นสามารถพิมพ์ข้อความ รูปภาพ บาร์โค้ด ได้ทั้งแบบสีและขาวดำ ทำให้ผู้ผลิตสามารถบอกสรรพคุณสินค้า วันหมดอายุ ชื่อสินค้า ชื่อผู้ผลิต และสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการสื่อถึงผู้บริโภคลงบนบรรจุภัณฑ์ได้
3. เพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายขนส่ง: สำหรับผู้ผลิตในปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายขนส่ง (Logistic) นับเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ บรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาดี จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการขนย้ายสินค้าไปยังที่ต่างๆ และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้
4. เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและความอยากซื้อของผู้บริโภค: ปัจจัยนี้นับเป็นปัจจัยสำคัญในปัจจุบัน เพราะการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดสายตา และชวนให้ซื้อนั้นมีผลต่อยอดขายสินค้าเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูมีราคาแพงยังช่วยให้สามารถเพิ่มราคาขายของสินค้าได้ โดยผู้บริโภคไม่รู้สึกว่ากำลังถูกเอาเปรียบ
เครื่อง Horizontal Form-Fill Seal หรือที่รู้จักกันในชื่อ Flow Wrapper มีหลักการทำงานคือ การนำวัสดุซึ่งโดยมากเป็นแผ่นพลาสติกในรูปแบบม้วน หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ฟิล์ม” มาทำการขึ้นรูปและซีลด้วยความร้อนให้เป็นท่อยาว สินค้าจะถูกส่งเข้าจากด้านหน้าของเครื่องจักรผ่านไปในท่อฟิล์มที่ขึ้นรูปไว้แล้ว จากนั้นจึงตัดและซีลปิดผนึกเป็นชิ้นๆ เกิดเป็นรูปร่างของถุง
เราจำเป็นต้องทราบอะไรในการเลือกซื้อ Flow Wrapper?
ข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบก่อนที่จะเลือกซื้อเครื่อง Flow Wrapper มีดังนี้
1. สินค้าของเราคืออะไร มีลักษณะ รูปร่าง ขนาด และคุณสมบัติอย่างไร เช่น ขนมปัง รูปร่างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 90-100 mm สูง 40 mm ผิวนุ่ม หนืดเล็กน้อย เสียรูปได้ง่าย
2. Capacity หรือความเร็วในการผลิต เช่น ต้องการเดินเครื่องจักรที่ 100 ชิ้น/นาที หรือ 6000 ชิ้น/ชั่วโมง เป็นต้น
3. ชนิดของฟิล์มที่ใช้ในการห่อ ชนิดของฟิล์มนอกจากจะมีผลต่อตัวสินค้าแล้ว ยังมีผลต่อการเลือกเครื่องจักรด้วย เนื่องจากฟิล์มบางชนิดไม่เหมาะกับการเดินที่ความเร็วสูง หรือบางชนิดอาจไม่สามารถซีลด้วยความร้อนจาก Heat Sealer ปกติได้
4. ลักษณะการเรียงของสินค้าภายในถุง ในกรณีที่มีมากกว่า 1 ชิ้น
5. พื้นที่ในการติดตั้งเครื่องจักร ต้องมีขนาดที่เหมาะสมและสามารถทำงานซ่อมบำรุงได้
6. ความต้องการพิเศษอื่นๆ เช่น ต้องเป็นซองที่มีการแทงจีบ เติมแก๊ส พิมพ์วันที่ ตรวจจับและคัด สินค้าที่เสียออกได้ (Reject) เป็นต้น
เทคโนโลยีเครื่องบรรจุ HORIZONTAL FORM-FILL-SEAL ในปัจจุบัน
หลักการในการออกแบบเครื่อง Flow Wrapper ในปัจจุบันมักขึ้นอยู่กับพื้นฐานดังต่อไปนี้
1. บรรลุจุดประสงค์พื้นฐานของการบรรจุหีบห่อ นั่นคือสามารถห่อสินค้าได้อย่างสมบูรณ์ สวยงาม
2. ความรวดเร็วในการทำงาน ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่การเดินเครื่องที่ความเร็วสูง แต่ยังรวมถึงการออกแบบเครื่องให้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เปลี่ยนชนิดสินค้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดต้นทุนเครื่องจักรและเวลาในการผลิตสินค้า ตัวอย่างของการออกแบบเพื่อให้มีความรวดเร็วในการทำงานมากขึ้น เช่น การใช้ Servo Motor แบบแยกอิสระแทนระบบกลไกประเภท เฟืองและสายพาน ในส่วนสำคัญๆของเครื่องจักร (ดังรูปที่ 2 1) ทำให้สามารถเดินเครื่องได้ที่ความเร็วสูงขึ้น และสามารถเปลี่ยนชนิดสินค้าได้โดยการสัมผัสหน้าจอเครื่องและปรับอุปกรณ์บางอย่างเพียงเล็กน้อย
3. มีของเสียที่เกิดจากการทำงานน้อยที่สุด หากเกิดขึ้นแล้วต้องป้องกันไม่ให้หลุดรอดออกไปสู่มือผู้บริโภค เช่น การนำระบบตรวจสอบการพิมพ์วันที่หมดอายุด้วย Vision System (รูปที่ 3 2) หรือระบบตรวจสอบสินค้าที่โดนใบมีดตัดเนื่องจากตำแหน่งสินค้าไม่ถูกต้อง มาใช้ร่วมกับระบบ Reject ของเสีย เป็นต้น
4. ใช้งานง่าย ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีทักษะพิเศษ และต้องไม่สับสนในการใช้งาน เช่น การใช้หน้าจอแบบสัมผัส Touch Screen ที่ถูกออกแบบจัดเรียงปุ่มต่างๆให้ใช้งานง่าย และบอกข้อมูลของเครื่องจักรอย่างครบถ้วน
5. ประหยัดพลังงาน เช่น การนำระบบ Heater แบบ Induction Heating มาใช้ เป็นต้น
6. มีความทนทาน ไม่ชำรุดเสียหายง่าย เพื่อป้องกันความสูญเสียทางด้านการผลิตที่อาจเกิดขึ้นกรณีเครื่องจักรหยุดทำงาน ซึ่งสามารถทำได้โดยการออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งตัวฐานเครื่องจักรให้มีความแข็งแรงมากขึ้น
7. ซ่อมบำรุงได้ง่าย เช่น มีระบบการเตือนการซ่อมบำรุง หรือการออกแบบอุปกรณ์ต่างๆให้สามารถทำการเปลี่ยนได้ง่ายกรณีที่ชำรุดเสียหาย
8. สามารถขยายการทำงานเป็นระบบไลน์การผลิตอัตโนมัติ โดยมีระบบรับส่งสัญญาณเพื่อให้ทำงานสอดคล้องกับเครื่องจักรด้านหน้าและด้านหลัง เช่นระบบสายพาน ระบบลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ ระบบการตรวจสอบสินค้าแบบ X-ray, Metal Detector หรือ Check Weigher เป็นต้น